วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ความสุนทรียะ ที่น่าอ่าน

ความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมร่วมสมัยกับวรรณกรรมปัจจุบัน
จริง ๆ แล้ว ความหมายของคำว่า "ร่วมสมัย" กับ "ปัจจุบัน" มีทั้งส่วนที่เหมือนกันและแตกต่างกันคือวรรณกรรมปัจจุบันหมายถึงวรรณกรรมทั่วไปเป็นการกล่าวถึงอย่างกว้าง ๆ ส่วนวรรณกรรมร่วมสมัย มุ่งกล่าวถึงในแง่ของความพ้องกันในเรื่องเวลา เหตุการณ์ รูปแบบ แนวคิด เป็นต้น ดังกล่าวแล้ว คำว่าร่วมสมัย จึงค่อนข้างมีความหมายเฉพาะเจาะจงกว่าคำปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปและแม้แต่นักวิชาการบางคนก็ใช้คำทั้งสองนี้ในความหมายเดียวกัน (นภาลัย สุวรรณธาดา 2523 : 541) ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของ ธวัช ปุณโณทก (2527 : 3) ที่กล่าวว่า ฉะนั้นโดยนัยแห่งความหมายของคำว่า วรรณกรรมปัจจุบัน และวรรณกรรมร่วมสมัยนั้นไม่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่าคำว่า "ร่วมสมัย" อาจจะหมายถึงระยะเวลาสมัยเดียวกันในอดีตก็ได้ เช่น พ่อขุนรามคำแหงร่วมสมัยกับพ่อขุนเม็งรายแห่งอาณาจักรล้านนาไทย แต่ในความหมายของ "วรรณกรรมร่วมสมัย" น่าจะหมายถึง "การร่วมมโนทัศน์ แนวคิด และปรัชญาชีวิตสังคมในสมัยเดียวกัน" ซึ่งจะมีความหมายเหมือนกับคำว่า วรรณกรรมปัจจุบัน คือ มีมโนทัศน์ แนวคิด และปรัชญาชีวิตสังคมในสมัยปัจจุบัน" นั่นเอง ดังนั้นเนื้อหาในตอนต่อไป ทั้งทางด้านวรรณกรรมร่วมสมัย และวรรณกรรมปัจจุบัน ผู้เขียนจะกล่าวรวม ๆ ว่า วรรณกรรมปัจจุบัน

ลักษณะของวรรณกรรมไทยปัจจุบัน
สายทิพย์ นุกูลกิจ (2537 : 33-37) ได้กล่าวว่าวรรณกรรมไทยปัจจุบันว่ามีลักษณะเด่นที่ควรกล่าวถึง 4 ประการ คือ
1. รูปแบบวรรณกรรมไทยปัจจุบันมีรูปแบบการแต่งขยายตัวมากขึ้นกว่าวรรณคดีไทยเดิม และแต่ละรูปแบบยังขยายย่อออกไปได้อีกมาก ได้แก่
1.1. ร้อยกรอง ร้อยกรองปัจจุบันมุ่งเน้นในด้านการเสนอ "ข้อคิดเห็นหรือความ
คิด" มากกกว่าการเสนอความไพเราะงดงามตามหลักวรรณศิลป์ของร้อยกรองสมัยก่อน ร้อยกรองปัจจุบันจึงมีขนาดสั้น ไม่เคร่งครัดในด้านฉันทลักษณ์และไม่สนใจธรรมเนียมนิยมในการแต่ง นอกจากนี้ยังนิยมใช้ถ้อยคำง่าย ๆ ในภาษาพูดที่มีความหมายแจ่มชัด สามารถสื่อความคิดที่ก้าวแกร่งและรุนแรงของผู้แต่งมากกว่าจะนิยมใช้ถ้อยคำในภาษาเขียนที่เป็นศัพท์สูง ๆ หรือเพ่งเล็งเรื่องความไพเราะทั้งในด้านความหมายและเสียงของคำตามแบบร้อยกรองแบบเก่า สำหรับเนื้อหาจะสะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพสังคมที่แวดล้อมตัวผู้เขียนและผู้อ่านทั้งในด้าน การเมือง การศึกษา และเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง
1.2. เรื่องสั้น เป็นรูปแบบการเขียนบันเทิงคดีอย่างใหม่ที่ได้รับความนิยมจากผู้
อ่านอย่างกว้างขวาง มีลักษณะเป็นร้อยแก้วเรื่องสมมุติที่มีขนาดสั้น ผู้แต่งมักกำหนดให้เนื้อเรื่อง ตัวบุคคลในเรื่อง บทสนทนา เหตุการณ์และสถานที่ในเรื่องมีลักษณะสมจริงตามสภาพชีวิตจริงมากที่สุด โดยมีแนวการเขียนแสดงได้หลายแบบ เช่น ประเภท เน้นโครงเรื่อง ได้แก่เรื่องจับตาย ของมนัส จรรยงค์ ประเภทเน้นแนวคิดเช่นเรื่องหายไปกับลมหายใจ ของ ชาติ กอบจิตติ ประเภทเน้นตัวละคร เช่นเรื่อง มอม ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ประเภทเน้นบรรยากาศได้แก่เรื่อง แหลมตะลุมพุก ของ มนัส สัตยารักษ์ เป็นต้น
นอกจากนี้อาจแบ่งประเภทเรื่องสั้นตามแนวปรัชญาความคิดตะวันตกออกไปได้อีกหลายแนว เช่น แนวสัญลักษณ์ (Symbolism) ได้แก่เรื่อง คนบนต้นไม้ ของนิคม รายวา แนวธรรมชาตินิยม (Naturalism) ได้แก่เรื่อง ฟ้าโปรด ของ ลาวคำหอม แนวอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) ได้แก่เรื่อง ลูกชายคนสุดท้อง ของศรีดาวเรือง เป็นต้น
1.3 นวนิยาย เป็นรูปแบบการเขียนบันเทิงคดีอย่างใหม่เช่นเดียวกับเรื่องสั้นแต่มีขนาดยาวกว่าเพราะผู้แต่งสามารถกำหนดตัวบุคคล เหตุการณ์และสถานที่ในเรื่องได้โดยไม่จำกัดสุดแต่ผู้แต่งจะเห็นว่าเหมาะสม มีแนวการเขียนแสดงได้หลายแบบเช่น
ประเภทพาฝัน ได้แก่เรื่อง สลักจิต, คำอธิฐานของดวงดาว, ในฝัน
ประเภทชีวิตครอบครัว ได้แก่เรื่อง ดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง, ไม้ผลัดใบ
ประเภทจิตวิทยา ได้แก่เรื่อง ไร้เสน่หา, เงาราหู. โอ้มาดา, มายา
ประเภทลูกทุ่ง ได้แก่เรื่อง แผลเก่า, ทุ่งมหาราช, ลูกอีสาน
ประเภทราชสำนัก ได้แก่เรื่อง สี่แผ่นดิน, ร่มฉัตร
ประเภทการเมืองได้แก่ ไผ่แดง, ทำไม, ลมที่เปลี่ยนทาง, ทางน้ำเงิน
นอกจากนี้อาจแบ่งตามแนวปรัชญาความคิดตะวันตกออกไปได้เช่น
แนวโรแมนติก (Romanticism) เช่นเรื่อง เลือดขัตติยา, หนี้รัก
แนวสัจนิยม (Realism) เช่นเรื่อง นี่แหละโลก, หญิงคนชั่ว, เรือมนุษย์
แนวสัจนิยมใหม่ (Neo-Realism) เช่นเรื่อง ขบวนการเสรีจีน, พิราบแดง
แนวธรรมชาตินิยม (Naturalism) เช่นเรื่อง เหยื่อ, คำพิพากษา
1.4 บทละครพูด คือบทละครที่ไทยได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ในรัชกาลที่ 5 บทละครพูดนี้มักแต่งเป็นร้อยแก้วเรื่องสมมุติ เพื่อใช้แสดงบนเวทีโดยกำหนดให้ตัวละครดำเนินเรื่องในรูปของบทเจรจา ในยุคปัจจุบัน ละครพูดพัฒนาเป็นละครพูดสมัยใหม่ นิยมแสดงและเผยแพร่กันเฉพาะในกลุ่มผู้ที่สนใจ ซึ่งมักเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูงเท่านั้นโดยได้บทมาจากการแปล และแปลงบทละครต่างประเทศ เช่น "อวสานของเซลส์แมน" "รถรางคันนั้นชื่อปราถนา" "เกิดเป็นตัวละคร" เป็นต้น ต่อมานักเขียนไทยได้สนใจคิดแต่งเรื่องขึ้นเอง เช่น "โลกของเปี่ยม" ของ รัศมี เผ่าเหลืองทอง "ชั้นที่เจ็ด" ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี "ฉันเพียงแต่อยากจะออกไปข้างนอก" ของ วิทยากร เชียงกูล "นักรบ อสุจิ" และ "ลมหายใจแห่งศตวรรษ" ของ สุวัฒน์ ศรีเชื้อ เป็นต้น บทละครสมัยใหม่จึงมีทั้งที่เป็นบทละครแปล บทละครแปลง และบทละครที่คนไทยคิดแต่งขึ้นเอง แต่ใช้วิธีการแสดงออกตามแบบตะวันตก เช่น การใช้สัญลักษณ์ และการเสนอแนวคิดแบบใหม่ ๆ เป็นต้น และด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง บทละครสมัยใหม่บางเรื่องจึงมิได้มุ่งเขียนเพื่อนำไปใช้ในการแสดงจริง ๆ หากแต่มุ่งเขียนขึ้นเพื่อให้บทละครเป็นเครื่องมือในการสื่อความคิดของผู้แต่งไปยังผู้อ่าน เช่นเดียวกับการเขียนในรูปแบบของเรื่องสั้น นวนิยาย หรือสารคดีด้วย เช่น เรื่องลมหายใจแห่งศตวรรษ ของ สุวัฒน์ ศรีเชื้อ เป็นต้น
1.5 สารคดี เป็นรูปแบบการเขียนร้อยแก้วที่มุ่งเน้นเรื่องข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นเป็นอันดับแรก เน้นเรื่องความเพลิดเพลินเป็นอันดับรอง สารคดีอาจแยกประเภทได้หลายแบบ แล้วแต่ว่าจะใช้อะไรมาเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง เช่น
- แบ่งตามขนาดของสารคดี ได้เป็น 2 ประเภท คือสารคดีขนาดสั้น ได้แก่ บทความ บทบรรณาธิการ และสารคดีขนาดยาว เช่น สารคดีท่องเที่ยว เป็นต้น
- แบ่งตามลักษณะเนื้อหาออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ สารคดีเชิงวิชาการแขนงต่าง ๆ เช่น สารคดีประเภทจิตวิทยา สารคดีประเภทวิทยาศาสตร์ สารคดีประเภทประวัติศาสตร์ เป็นต้น กับสารคดีเชิงบันทึกประสบการณ์ เช่น สารคดีท่องเที่ยว สารคดีชีวประวัติ เป็นต้น
- หรือแบ่งตามลักษณะการเขียนออกได้เป็น บทความ ความเรียง และสารคดีประเภทเรื่องเล่าจากประสบการณ์ เป็นต้น
2. แนวคิดหรือปรัชญาของเรื่องวรรณคดีไทยเดิมส่วนใหญ่มักเสนอแนวคิดตามแนวจินตนิยมและอุดมคตินิยม เพราะยึดเอาพุทธปรัชญาและจินตนาการของผู้แต่งเป็นแกนสำคัญของเรื่อง แต่วรรณกรรมไทยปัจจุบันกลับนิยมเสนอแนวคิดตามหลักปรัชญาของวรรณกรรมตะวันตก โดยเฉพาะวรรณกรรมประเภทนวนิยาย เรื่องสั้น บทละครพูด และบทร้อยกรอง เช่น เสนอความเป็นจริงทุกแง่ทุกมุมตามแนวคิดแบบสัจนิยม (Realism) ได้แก่ นวนิยายเรื่องผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ของ โบตั๋น เสนอภาพชีวิตที่เน้นเรื่องความทุกข์ยาก ความร้ายกาจของชีวิต ตามแนวคิดแบบธรรมชาตินิยม (Naturalism) ได้แก่ เรื่องสั้นชุดฟ้าบ่กั้น ของ ลาวคำหอม เสนอเรื่อง โดยใช้สัญลักษณ์ตามแนวคิดแบบสัญลักษณ์นิม (Symbolism) ได้แก่ นวนิยายเรื่อง ทางน้ำเงิน ของ สิทธิไชยใช้แนวปรัชญาที่แสดงถึงความมีอิสระเสรีของมนุษย์ในการเลือก เพื่อการดำรงชีวิตแทนที่จะยอมอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขของสังคมตามแนวคิดแบบอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) ได้แก่ เรื่องสั้นเรื่องถนนสายที่นำไปสู่ความตาย ของวิทยากร เชียงกูล และบทละครเรื่อง อันตราคนี ของมัทนี รัตนิน หรือเสนอความคิดแบบเหนือจริง ตามแนวคิดเหนือจริง (Surrealism) ได้แก่ บทละครพูดสมัยใหม่เรื่อง ลมหายใจแห่งศตวรรษของ สุวัฒน์ ศรีเชื้อ เป็นต้น
3. เนื้อหา เนื้อหาของวรรณกรรมไทยปัจจุบันมีลักษณะต่างจากวรรณกรรมในอดีตตรงที่เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวของสามัญชน ซึ่งมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมเหมือนชีวิตจริง ๆ โดยมีฉากในท้องเรื่องเป็นสภาพจำลองของสังคมปัจจุบัน ซึ่งผู้อ่านสามารถรู้และเข้าใจได้โดยง่าย วรรณกรรมในยุคปัจจุบันจะไม่นิยมกล่าวถึงเรื่องนรกสวรรค์เขาพระสุเมรุ เป็นต้น ซึ่งเป็นแดนที่ไม่มีใครเคยพบเห็นหรือกล่าวถึงเรื่องราวที่ไกลตัวผู้อ่านแต่จะหันมากล่าวถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวผู้อ่านแทน เช่น เรื่องการเมือง กฎหมาย ภาวะเศรษบกิจ การติดต่อกับต่างประเทศ การจราจร การธนาคาร เป็นต้น
4. กลวิธีในการแต่ง วรรณกรรมปัจจุบันโดยเฉพาะนวนิยาย เรื่องสั้น และบทละครมีกลวิธีการแต่งที่ชวนให้น่าติดตามอย่างมากมาย เช่น การเปิดเรื่อง อาจเริ่มด้วยการบรรยายฉาก การแนะนำตัวละคร การยกสุภาษิตคำคม หรือการใช้บทสนทนา เป็นต้น สำหรับการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจ อาจใช้วิธีการเล่าเรื่องย้อนหลัง การให้ตัวละครผลัดกันเล่าเรื่อง หรือการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เสนอแนวคิดของเรื่อง เป็นต้น ส่วนวิธีการปิดเรื่องให้ประทับใจผู้อ่าน อาจทำได้โดยปิดเรื่องแบบหักมุมหรือพลิกความคาดหมาย ปิดเรื่องยังมีกลวิธีอื่น ๆ อีกหลายประการ เช่น การสร้างตัวละคร การแนะนำตัวละคร การเล่าเรื่อง การทำบทสนทนา การสร้างฉากและบรรยากาศ เป็นต้น ซึ่งกลวิธีต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ล้วนเป็นกลวิธีที่ไทยเราได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมตะวันตกทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น: