วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ความสุนทรียะ ที่น่าอ่าน

ความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมร่วมสมัยกับวรรณกรรมปัจจุบัน
จริง ๆ แล้ว ความหมายของคำว่า "ร่วมสมัย" กับ "ปัจจุบัน" มีทั้งส่วนที่เหมือนกันและแตกต่างกันคือวรรณกรรมปัจจุบันหมายถึงวรรณกรรมทั่วไปเป็นการกล่าวถึงอย่างกว้าง ๆ ส่วนวรรณกรรมร่วมสมัย มุ่งกล่าวถึงในแง่ของความพ้องกันในเรื่องเวลา เหตุการณ์ รูปแบบ แนวคิด เป็นต้น ดังกล่าวแล้ว คำว่าร่วมสมัย จึงค่อนข้างมีความหมายเฉพาะเจาะจงกว่าคำปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปและแม้แต่นักวิชาการบางคนก็ใช้คำทั้งสองนี้ในความหมายเดียวกัน (นภาลัย สุวรรณธาดา 2523 : 541) ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของ ธวัช ปุณโณทก (2527 : 3) ที่กล่าวว่า ฉะนั้นโดยนัยแห่งความหมายของคำว่า วรรณกรรมปัจจุบัน และวรรณกรรมร่วมสมัยนั้นไม่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่าคำว่า "ร่วมสมัย" อาจจะหมายถึงระยะเวลาสมัยเดียวกันในอดีตก็ได้ เช่น พ่อขุนรามคำแหงร่วมสมัยกับพ่อขุนเม็งรายแห่งอาณาจักรล้านนาไทย แต่ในความหมายของ "วรรณกรรมร่วมสมัย" น่าจะหมายถึง "การร่วมมโนทัศน์ แนวคิด และปรัชญาชีวิตสังคมในสมัยเดียวกัน" ซึ่งจะมีความหมายเหมือนกับคำว่า วรรณกรรมปัจจุบัน คือ มีมโนทัศน์ แนวคิด และปรัชญาชีวิตสังคมในสมัยปัจจุบัน" นั่นเอง ดังนั้นเนื้อหาในตอนต่อไป ทั้งทางด้านวรรณกรรมร่วมสมัย และวรรณกรรมปัจจุบัน ผู้เขียนจะกล่าวรวม ๆ ว่า วรรณกรรมปัจจุบัน

ลักษณะของวรรณกรรมไทยปัจจุบัน
สายทิพย์ นุกูลกิจ (2537 : 33-37) ได้กล่าวว่าวรรณกรรมไทยปัจจุบันว่ามีลักษณะเด่นที่ควรกล่าวถึง 4 ประการ คือ
1. รูปแบบวรรณกรรมไทยปัจจุบันมีรูปแบบการแต่งขยายตัวมากขึ้นกว่าวรรณคดีไทยเดิม และแต่ละรูปแบบยังขยายย่อออกไปได้อีกมาก ได้แก่
1.1. ร้อยกรอง ร้อยกรองปัจจุบันมุ่งเน้นในด้านการเสนอ "ข้อคิดเห็นหรือความ
คิด" มากกกว่าการเสนอความไพเราะงดงามตามหลักวรรณศิลป์ของร้อยกรองสมัยก่อน ร้อยกรองปัจจุบันจึงมีขนาดสั้น ไม่เคร่งครัดในด้านฉันทลักษณ์และไม่สนใจธรรมเนียมนิยมในการแต่ง นอกจากนี้ยังนิยมใช้ถ้อยคำง่าย ๆ ในภาษาพูดที่มีความหมายแจ่มชัด สามารถสื่อความคิดที่ก้าวแกร่งและรุนแรงของผู้แต่งมากกว่าจะนิยมใช้ถ้อยคำในภาษาเขียนที่เป็นศัพท์สูง ๆ หรือเพ่งเล็งเรื่องความไพเราะทั้งในด้านความหมายและเสียงของคำตามแบบร้อยกรองแบบเก่า สำหรับเนื้อหาจะสะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพสังคมที่แวดล้อมตัวผู้เขียนและผู้อ่านทั้งในด้าน การเมือง การศึกษา และเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง
1.2. เรื่องสั้น เป็นรูปแบบการเขียนบันเทิงคดีอย่างใหม่ที่ได้รับความนิยมจากผู้
อ่านอย่างกว้างขวาง มีลักษณะเป็นร้อยแก้วเรื่องสมมุติที่มีขนาดสั้น ผู้แต่งมักกำหนดให้เนื้อเรื่อง ตัวบุคคลในเรื่อง บทสนทนา เหตุการณ์และสถานที่ในเรื่องมีลักษณะสมจริงตามสภาพชีวิตจริงมากที่สุด โดยมีแนวการเขียนแสดงได้หลายแบบ เช่น ประเภท เน้นโครงเรื่อง ได้แก่เรื่องจับตาย ของมนัส จรรยงค์ ประเภทเน้นแนวคิดเช่นเรื่องหายไปกับลมหายใจ ของ ชาติ กอบจิตติ ประเภทเน้นตัวละคร เช่นเรื่อง มอม ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ประเภทเน้นบรรยากาศได้แก่เรื่อง แหลมตะลุมพุก ของ มนัส สัตยารักษ์ เป็นต้น
นอกจากนี้อาจแบ่งประเภทเรื่องสั้นตามแนวปรัชญาความคิดตะวันตกออกไปได้อีกหลายแนว เช่น แนวสัญลักษณ์ (Symbolism) ได้แก่เรื่อง คนบนต้นไม้ ของนิคม รายวา แนวธรรมชาตินิยม (Naturalism) ได้แก่เรื่อง ฟ้าโปรด ของ ลาวคำหอม แนวอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) ได้แก่เรื่อง ลูกชายคนสุดท้อง ของศรีดาวเรือง เป็นต้น
1.3 นวนิยาย เป็นรูปแบบการเขียนบันเทิงคดีอย่างใหม่เช่นเดียวกับเรื่องสั้นแต่มีขนาดยาวกว่าเพราะผู้แต่งสามารถกำหนดตัวบุคคล เหตุการณ์และสถานที่ในเรื่องได้โดยไม่จำกัดสุดแต่ผู้แต่งจะเห็นว่าเหมาะสม มีแนวการเขียนแสดงได้หลายแบบเช่น
ประเภทพาฝัน ได้แก่เรื่อง สลักจิต, คำอธิฐานของดวงดาว, ในฝัน
ประเภทชีวิตครอบครัว ได้แก่เรื่อง ดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง, ไม้ผลัดใบ
ประเภทจิตวิทยา ได้แก่เรื่อง ไร้เสน่หา, เงาราหู. โอ้มาดา, มายา
ประเภทลูกทุ่ง ได้แก่เรื่อง แผลเก่า, ทุ่งมหาราช, ลูกอีสาน
ประเภทราชสำนัก ได้แก่เรื่อง สี่แผ่นดิน, ร่มฉัตร
ประเภทการเมืองได้แก่ ไผ่แดง, ทำไม, ลมที่เปลี่ยนทาง, ทางน้ำเงิน
นอกจากนี้อาจแบ่งตามแนวปรัชญาความคิดตะวันตกออกไปได้เช่น
แนวโรแมนติก (Romanticism) เช่นเรื่อง เลือดขัตติยา, หนี้รัก
แนวสัจนิยม (Realism) เช่นเรื่อง นี่แหละโลก, หญิงคนชั่ว, เรือมนุษย์
แนวสัจนิยมใหม่ (Neo-Realism) เช่นเรื่อง ขบวนการเสรีจีน, พิราบแดง
แนวธรรมชาตินิยม (Naturalism) เช่นเรื่อง เหยื่อ, คำพิพากษา
1.4 บทละครพูด คือบทละครที่ไทยได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ในรัชกาลที่ 5 บทละครพูดนี้มักแต่งเป็นร้อยแก้วเรื่องสมมุติ เพื่อใช้แสดงบนเวทีโดยกำหนดให้ตัวละครดำเนินเรื่องในรูปของบทเจรจา ในยุคปัจจุบัน ละครพูดพัฒนาเป็นละครพูดสมัยใหม่ นิยมแสดงและเผยแพร่กันเฉพาะในกลุ่มผู้ที่สนใจ ซึ่งมักเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูงเท่านั้นโดยได้บทมาจากการแปล และแปลงบทละครต่างประเทศ เช่น "อวสานของเซลส์แมน" "รถรางคันนั้นชื่อปราถนา" "เกิดเป็นตัวละคร" เป็นต้น ต่อมานักเขียนไทยได้สนใจคิดแต่งเรื่องขึ้นเอง เช่น "โลกของเปี่ยม" ของ รัศมี เผ่าเหลืองทอง "ชั้นที่เจ็ด" ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี "ฉันเพียงแต่อยากจะออกไปข้างนอก" ของ วิทยากร เชียงกูล "นักรบ อสุจิ" และ "ลมหายใจแห่งศตวรรษ" ของ สุวัฒน์ ศรีเชื้อ เป็นต้น บทละครสมัยใหม่จึงมีทั้งที่เป็นบทละครแปล บทละครแปลง และบทละครที่คนไทยคิดแต่งขึ้นเอง แต่ใช้วิธีการแสดงออกตามแบบตะวันตก เช่น การใช้สัญลักษณ์ และการเสนอแนวคิดแบบใหม่ ๆ เป็นต้น และด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง บทละครสมัยใหม่บางเรื่องจึงมิได้มุ่งเขียนเพื่อนำไปใช้ในการแสดงจริง ๆ หากแต่มุ่งเขียนขึ้นเพื่อให้บทละครเป็นเครื่องมือในการสื่อความคิดของผู้แต่งไปยังผู้อ่าน เช่นเดียวกับการเขียนในรูปแบบของเรื่องสั้น นวนิยาย หรือสารคดีด้วย เช่น เรื่องลมหายใจแห่งศตวรรษ ของ สุวัฒน์ ศรีเชื้อ เป็นต้น
1.5 สารคดี เป็นรูปแบบการเขียนร้อยแก้วที่มุ่งเน้นเรื่องข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นเป็นอันดับแรก เน้นเรื่องความเพลิดเพลินเป็นอันดับรอง สารคดีอาจแยกประเภทได้หลายแบบ แล้วแต่ว่าจะใช้อะไรมาเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง เช่น
- แบ่งตามขนาดของสารคดี ได้เป็น 2 ประเภท คือสารคดีขนาดสั้น ได้แก่ บทความ บทบรรณาธิการ และสารคดีขนาดยาว เช่น สารคดีท่องเที่ยว เป็นต้น
- แบ่งตามลักษณะเนื้อหาออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ สารคดีเชิงวิชาการแขนงต่าง ๆ เช่น สารคดีประเภทจิตวิทยา สารคดีประเภทวิทยาศาสตร์ สารคดีประเภทประวัติศาสตร์ เป็นต้น กับสารคดีเชิงบันทึกประสบการณ์ เช่น สารคดีท่องเที่ยว สารคดีชีวประวัติ เป็นต้น
- หรือแบ่งตามลักษณะการเขียนออกได้เป็น บทความ ความเรียง และสารคดีประเภทเรื่องเล่าจากประสบการณ์ เป็นต้น
2. แนวคิดหรือปรัชญาของเรื่องวรรณคดีไทยเดิมส่วนใหญ่มักเสนอแนวคิดตามแนวจินตนิยมและอุดมคตินิยม เพราะยึดเอาพุทธปรัชญาและจินตนาการของผู้แต่งเป็นแกนสำคัญของเรื่อง แต่วรรณกรรมไทยปัจจุบันกลับนิยมเสนอแนวคิดตามหลักปรัชญาของวรรณกรรมตะวันตก โดยเฉพาะวรรณกรรมประเภทนวนิยาย เรื่องสั้น บทละครพูด และบทร้อยกรอง เช่น เสนอความเป็นจริงทุกแง่ทุกมุมตามแนวคิดแบบสัจนิยม (Realism) ได้แก่ นวนิยายเรื่องผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ของ โบตั๋น เสนอภาพชีวิตที่เน้นเรื่องความทุกข์ยาก ความร้ายกาจของชีวิต ตามแนวคิดแบบธรรมชาตินิยม (Naturalism) ได้แก่ เรื่องสั้นชุดฟ้าบ่กั้น ของ ลาวคำหอม เสนอเรื่อง โดยใช้สัญลักษณ์ตามแนวคิดแบบสัญลักษณ์นิม (Symbolism) ได้แก่ นวนิยายเรื่อง ทางน้ำเงิน ของ สิทธิไชยใช้แนวปรัชญาที่แสดงถึงความมีอิสระเสรีของมนุษย์ในการเลือก เพื่อการดำรงชีวิตแทนที่จะยอมอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขของสังคมตามแนวคิดแบบอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) ได้แก่ เรื่องสั้นเรื่องถนนสายที่นำไปสู่ความตาย ของวิทยากร เชียงกูล และบทละครเรื่อง อันตราคนี ของมัทนี รัตนิน หรือเสนอความคิดแบบเหนือจริง ตามแนวคิดเหนือจริง (Surrealism) ได้แก่ บทละครพูดสมัยใหม่เรื่อง ลมหายใจแห่งศตวรรษของ สุวัฒน์ ศรีเชื้อ เป็นต้น
3. เนื้อหา เนื้อหาของวรรณกรรมไทยปัจจุบันมีลักษณะต่างจากวรรณกรรมในอดีตตรงที่เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวของสามัญชน ซึ่งมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมเหมือนชีวิตจริง ๆ โดยมีฉากในท้องเรื่องเป็นสภาพจำลองของสังคมปัจจุบัน ซึ่งผู้อ่านสามารถรู้และเข้าใจได้โดยง่าย วรรณกรรมในยุคปัจจุบันจะไม่นิยมกล่าวถึงเรื่องนรกสวรรค์เขาพระสุเมรุ เป็นต้น ซึ่งเป็นแดนที่ไม่มีใครเคยพบเห็นหรือกล่าวถึงเรื่องราวที่ไกลตัวผู้อ่านแต่จะหันมากล่าวถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวผู้อ่านแทน เช่น เรื่องการเมือง กฎหมาย ภาวะเศรษบกิจ การติดต่อกับต่างประเทศ การจราจร การธนาคาร เป็นต้น
4. กลวิธีในการแต่ง วรรณกรรมปัจจุบันโดยเฉพาะนวนิยาย เรื่องสั้น และบทละครมีกลวิธีการแต่งที่ชวนให้น่าติดตามอย่างมากมาย เช่น การเปิดเรื่อง อาจเริ่มด้วยการบรรยายฉาก การแนะนำตัวละคร การยกสุภาษิตคำคม หรือการใช้บทสนทนา เป็นต้น สำหรับการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจ อาจใช้วิธีการเล่าเรื่องย้อนหลัง การให้ตัวละครผลัดกันเล่าเรื่อง หรือการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เสนอแนวคิดของเรื่อง เป็นต้น ส่วนวิธีการปิดเรื่องให้ประทับใจผู้อ่าน อาจทำได้โดยปิดเรื่องแบบหักมุมหรือพลิกความคาดหมาย ปิดเรื่องยังมีกลวิธีอื่น ๆ อีกหลายประการ เช่น การสร้างตัวละคร การแนะนำตัวละคร การเล่าเรื่อง การทำบทสนทนา การสร้างฉากและบรรยากาศ เป็นต้น ซึ่งกลวิธีต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ล้วนเป็นกลวิธีที่ไทยเราได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมตะวันตกทั้งสิ้น

วรรณกรรม

วรรณกรรมมีหลากหลายให้เลือกอ่าน ความเพลิดเพลินอยู่ที่สุนทรียะของแต่ละคน

วรรณกรรม

เรื่องย่อ

อีเลียตโฮป มหาเศรษฐีของอเมริกันผู้มีอิทธิพลต่อประธานาธิปดีและนักการเมืองสหรัฐ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางแผนของ ซี ไอ เอ ที่ส่งอาร์เธอร์ แลนซ์ล็อต เบลลิงเจอร์ เข้าไปทำงานใต้ดินจนทำให้มหาอำนาจรัสเซียล่มสลาย ชนเผ่าต่าง ๆ ที่เคยตกอยู่ในอำนาจรัสเซียต่างประกาศ อิสรภาพ สหรัฐกลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่ปราศจากคู่แข่ง โฮปได้ผลประโยชน์คือได้สัมปทานผูกขาดธุรกิจของประเทศที่เกิดใหม่ โฮปตั้งมูลนิธิการกุศล โฮป แอนด์ แฮปปิเนส (เอช เอช เอฟ) เพื่อช่วยเหลือคนยากจนในประเทศด้อยพัฒนาเป็นการบังหน้า เบื้องหลังคือการวางแผนทุกอย่างที่จะเอาประโยชน์จากประเทศที่เขาช่วยเหลือ

ที่ประเทศพม่าสล็อกเผด็จการทหารยึดอำนาจ กักบริเวณนางออกซานซูจี นักศึกษาพม่าเดินขบวนแต่ถูกปราบ ทำให้นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันชื่อ คอลลินสัน ถูกพม่าจับในย่างกุ้งและเสียชีวิตภายหลังอเมริกาจึงวางแผนล้มอำนาจเผด็จการทหารพม่าและสนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยตามชายแดนพม่าแข็งข้อแยกเป็นรัฐอิสระเช่นเดียวกับที่ทำกับรัสเซีย โฮปอยู่เบื้องหลังแผนการนี้และเจรจากับประธานาธิปดีขอให้ส่งแลนซ์ เบลลิงเจอร์ ซี ไอ เอ มือเยี่ยมเข้ามาประเทศไทยเพื่อดำเนินตามแผนให้ชนกลุ่มน้อยต่อสู้พม่า พร้อมทั้งให้แมนดี้อ่อง ลูกครึ่งอเมริกัน – พม่า เจ้าหน้าที่มูลนิธิ เอช เอช เอฟ ที่เข้าใจและรู้จักกับหัวหน้าชนกลุ่มน้อยมาคอยช่วยเหลือ งานครั้งนี้ โฮปมอบเงินไว้ให้แลนซ์ใช้จ่ายถึง 2 ล้านเหรียญ เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศฮาร์ตเลย์ อัลเกตเสนอแผนให้ประธานาธิบดีอนุมัติ แลนซ์ก็เดินทางเข้าประเทศไทยทันที มีแมนดี้อ่องไปรับที่สนามบินและเป็นผู้ช่วยไปตลอด

ขณะที่แลนซ์เข้าประเทศไทย วิคเตอร์ เลสคอฟ อดีต เค จี บี ของรัสเซีย ซึ่งรู้แผนการทำลายรัสเซียของแลนซ์ก็มาเป็นเลขานุการสถานฑูตรัสเซีย และช่วยสาวสวยชาวรัสเซียที่มาเป็นโสเภณีจากแมงดาไทยไว้ เธอชื่อพาตาซา เธอก็ช่วยเลสคอฟเช่นกัน เลสคอฟพบแลนซ์โดยบังเอิญเกิดความสงสัย เพราะรู้ฝีมือและขับเคี่ยวกันมาแล้วในรัสเซียเลยแอบติดตามการทำงานของแลนซ์

ก่อนเริ่มงานแมนดี้ อ่อง ได้เล่าเรื่องราวของพม่า และชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ให้แลนซ์ฟัง ไม่เห็นด้วยที่แลนซ์จะทำให้ผู้คนต้องสู้รบและฆ่าฟันกัน เพราะเธอเชื่อเรื่องของกรรมตามพุทธศาสนาที่เธอนับถือ แต่เธอก็ยินดีช่วยแลนซ์เต็มที่

แลนซ์และอ่องเริ่มงานใต้ดินโดยติดต่อกับขุนส่าหัวหน้าไทยใหญ่แห่งรัฐฉาน เพื่อให้แยกตัวเป็นอิสระจากพม่า รวมทั้งประสานงานกับชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ให้แข็งข้อกับพม่า แผนงานและความเคลื่อนไหวเลสคอฟสะกดรอยตาม รวมทั้งนายตำรวจไทยคือ พงษ์ศักดิ์และวิชัยก็ติดตามด้วย ขณะที่แลนซ์และอ่องเข้ารัฐฉานเพื่อเจรจานั้น เป็นวันชาติของไทยใหญ่ มีการสวนสนามและงานฉลอง มีเหตุการณ์สำคัญคือพวกว้าเข้าโจมตีเพื่อฆ่าขุนส่า แลนซ์วางแผนให้ทหารขุนส่าตีโต้กลับต้องล่าถอย และฆ่าทหารได้จำนวนหนึ่ง เมื่อแลนซ์และอ่องกลับถึงกรุงเทพฯ ก็รู้เรื่องการติดตามของเลสคอฟ ขณะเดียวกันพม่ารู้แผนการของแลนซ์ก็ส่งหม่องทินและถั่นจีติดตามเช่นกัน

แลนซ์และอ่องก็เดินทางเข้าทางท่าสองยาง จังหวัดตาก เข้าไปยังเนอปลอล์ฐานทัพกู้ชาติของกะเหรี่ยงอิสระเจรจากับนายพลโพเมียะ และก็ถูกโจมตีจากทหารพม่าแลนซ์วางแผนให้กะเหรี่ยงตีโต้กลับได้อีก เมื่อกลับกรุงเทพฯ จึงรู้ว่าพม่ารู้ความลับ แลนซ์สงสัยว่าผู้บอกพม่าน่าจะเป็นโฮป แต่ไม่มีหลักฐาน โดยเฉพาะที่สงสัยมากคือ ปืนที่ทหารพม่าและว้าแดงใช้ในการโจมตีเป็นปืนที่มาจากสหรัฐ ส่วนเลสคอฟรู้ว่าพม่าติดตามแลนซ์จึงร่วมมือกับพม่าด้วย

หลังจากเจรจากับกะเหรี่ยง แลนซ์และอ่องก็ไปเจรจากับส่วยเจ้น ประธานมอญใหญ่ที่สังขละบุรี หม่องทิน ถั่นจีและเลสคอฟวางแผนจับ ขณะถั่นจีเข้าจับแลนซ์ก็เห็นเลสคอฟด้วย แลนซ์และอ่องได้รับความช่วยเหลือจากพงษ์ศักดิ์ นายตำรวจไทย เพราะ ซี ไอ เอ ขอร้องให้ คุ้มครองช่วยเหลือ พงษ์ศักดิ์เล่าเรื่องการติดตามของพม่าและเลสคอฟให้แลนซ์ทราบ เมื่อกลับกรุงเทพ แลนซ์เห็นอีโนลา ลินเดอร์ เพื่อนของโฮปคุยกับคาเดล ทหารรับจ้างนักค้าอาวุธให้เขมร ลาวและชนกลุ่มน้อย อีโนล่าได้สัมปทานน้ำมันทั้งหมดจากสล็อก ทำให้แลนซ์ยิ่งสงสัยพฤติกรรมของโฮปว่าจะตีสองหน้าเพื่อจะเอาผลประโยชน์ทางธุรกิจของตัวเอง

เพื่อขจัดความสงสัยการตามของเลสคอฟ แลนซ์ตัดสินใจไปพบเลสคอฟที่สถานฑูต รัสเซียและทำความเข้าใจกันได้ ทำให้เลสคอฟเป็นเพื่อนของแลนซ์ ส่วนถั่นจีทำงานพลาดจากการจับแลนซ์ถูกสั่งให้แก้ตัวคือวางแผนฆ่าอัลเกต รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐที่จะมาประชุมรัฐมนตรีชาติเอเซีย ซึ่งจะมีรัฐมนตรีต่างประเทศจีนและรัสเซียร่วมประชุมด้วย ถั่นจีไปหาแสนศักดิ์ หัวหน้าค่ายมวยให้ช่วย แต่แสนศักดิ์ก็ถูกพงษ์ศักดิ์นำตำรวจเข้าจับตาย และพบภาพถ่ายของ อัลเกตจึงรู้ว่าถั่นจีมาหาและคาดการว่า ถั่นจีกำลังวางแผนสังหารอัลเกต ส่วนโฮปและอีโนลาก็ วางแผนให้คาเดลสังหารอัลเกตเพื่อประโยชน์ทางการค้าของตน เพราะหากสหรัฐขัดแย้งกับจีนก็จะเป็นประโยชน์กับโฮป ส่วนโนลน์หัวหน้าซี ไอ เอ ก็บอกพฤติกรรมของโฮปและอีโนลาให้แลนซ์ รู้รวมทั้งรายงานเรื่องอาวุธปืนของสหรัฐที่อยู่กับทหารพม่าและชนกลุ่มน้อยให้แลนซ์ได้รู้ด้วย

คาเดลวางแผนสังหารอัลเกตด้วยปืนไร้แสงสะท้อนถอยหลัง เอ็ม 20 ขนาด 75 มม. โดยยิงจากอาคารสูงริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอาคารที่ยังกำลังก่อสร้าง และเป็นจุดที่อยู่ตรงข้ามกับหอประชุมโรงแรม แกรนด์ ริเวอร์ พาเลส ที่รัฐมนตรีต่างประเทศใช้ประชุม การสังหารใช้อาวุธทำจากจีน ที่เขานำอาวุธชนิดเดียวกันของสหรัฐไปแลกมาจากเขมรแดง ส่วนถั่นจีก็วางแผนสังหารเช่นกันแต่ใช้ระเบิดที่เขาชำนาญ โดยจะแอบวางในห้องประชุม ถั่นจีไปวางแผนกับอาคมหัวหน้าแมงดาในซ่องซึ่งแอบจับตัวนาตาซามาขังไว้

เลสคอฟรู้ว่านาตาซาถูกจับจึงไปช่วยและขอให้ตำรวจช่วยด้วย ขณะบุกเข้าช่วยก็เห็นแผนผังห้องประชุมและแผนสังหาร อาคมถูกจับถั่นจีสั่งวางยาพิษเพื่อกันความลับแตก แลนซ์ พงษ์ศักดิ์ วิชัยรู้แผนสังหารจากเลสคอฟจึงสั่งให้ระวังและตรวจสอบห้องประชุม แต่ถั่นจีก็ปลอมเป็นพนักงานโรงแรมเข้าไปวางระเบิดใต้แจกัน หลังเก้าอี้ที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐจะนั่งประชุม ส่วนคาเดลก็วางแผนใช้ปั้นจั่นในที่ก่อสร้างยกปืนไร้แสงสะท้อนถอยหลังและกระสุนขึ้นไปติดตั้งที่จุดยิง มีคำรณเป็นผู้ช่วยและทั้งสองก็นอนเฝ้าทั้งคืนเพื่อปฏิบัติการ 10 นาฬิกาวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันอาทิตย์ ที่สำคัญพวกเขาจับพาลลิสเตอร์ ซี ไอ เอ ประจำไทยไปไว้ด้วยเพราะถ้าทำงานสำเร็จ พาลลิสเตอร์จะถูกฆ่า ศพของเขาและปืนจากจีนจะทำให้สหรัฐและจีนบาดหมางกัน เป็นไปตามแผนที่โฮปวางไว้

เย็นวันเสาร์นั้นเองหลังอาหารเย็น 3 ทุ่ม วิชัย พงษ์ศักดิ์ แลนซ์และอ่องมาตรวจสถานที่ประชุมครั้งสุดท้าย พงษ์ศักดิ์ก็พบถั่นจีปลอมเป็นพนักงานโรงแรม เพื่อมาต่อสายชนวนระเบิดเวลา จึงต่อสู้กัน ถั่นจีจับแมนดี้ อ่องเป็นตัวประกันเอาปืนจ่อคอลากไปที่ลานจอดรถ มีคนทั้งสามตามไป ขณะจะก้าวขึ้นรถเลสคอฟ ซึ่งอยู่ที่นั่นพอดีก็เข้าล็อกจับทำให้พงษ์ศักดิ์จับถั่นจี ไว้ได้

เช้าวันประชุม แลนซ์ตรวจพบจุดตั้งปืนโดยกล้องส่องทางไกลที่เขาส่องจากห้องประชุม จึงไปที่อาคารก่อสร้างพร้อมกับอ่อง วิชัย และพงษ์ศักดิ์ เขาสั่งชะลอการเข้าห้องประชุมของอัลเกตตอน 10 นาฬิกาไว้ เช้าวันนั้นอีโนล่าก็นำเงินค่าจ้างมาให้คาเดลพร้อมขึ้นไปดูการยิงด้วยตัวเอง

การถ่วงเวลา เลยไป 10 นาที อัลเกต รัฐมนตรีต่างประเทศไม่ยอมรอต่อไปจึงเข้าห้องประชุม คนของอีโนล่าก็ส่งวิทยุบอก คาเดลเริ่มบรรจุกระสุนเตรียมลั่นไก วิชัยตัดสินใจยิงถูกคำรณกระเด็นไปถูกท้ายปืนทำให้ปากกระบอกปืนกระดกสูงขึ้น พร้อมกับที่คาเดลลั่นไกยิงพอดี ลูกจรวด ขนาด 75 มม. พุ่งออกไป ปล่อยลำแสงเพลิงอันร้อนแรงพุ่งออกท้ายลำกล้องไปเผาอีโนล่าที่ยืนด้านหลังไหม้ตายทั้งเป็น กระสุนเหินฟ้าพลาดเป้า คาเดลถูกแลนซ์ยิงตายคาที่และช่วยเหลือพาลลิสเตอร์ออกมาได้ด้วย

แลนซ์เลิกเป็น ซี ไอ เอ แต่งงานกับอ่องเดินทางมาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่เกาะหมายเลข 8 ด้านทะเลอันดามันภาคใต้ของไทย ได้พบกับโฮปซึ่งต้องแอบอยู่ในเรือยอชมีมือปืนคุ้มกันและต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวและหลบซ่อนอยู่ในความดูแลของเผด็จการทหารพม่า เพราะกลัว ซี ไอ เอ ตามฆ่า มีเงินมหาศาลก็เหมือนตายทั้งเป็น แม้ไม่มีหลักฐานชัดแต่ซี ไอ เอก็เปิดเผยความลับและความละโมบของโฮปต่อสังคม อ่องกล่าวว่าโฮปใช้กรรมของเขาแล้ว แลนซ์และอ่องเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาเยี่ยมและร่วมรับประทานอาหารกับพงษ์ศักดิ์ วิชัย พาลลิสเตอร์ เลสคอฟและ นาตาซาซึ่งแต่งงานกันแล้ว หลังจากนั้นแลนซ์จะกลับไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในอเมริกา ขณะที่รับประทานอาหารอ่องก็ตกใจและเศร้าใจที่รู้ว่าพม่าโจมตีกะเหรี่ยงของนายพลโมเมียะแตกพ่าย ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก และพม่าก็จะโจมตีฆ่าฟันคนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นและรบกันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด